ศาสตราจารย์เซียว เจี้ยนจวง จากมหาวิทยาลัยกว่างซี เดินทางเข้าร่วมพิธีมอบรางวัลฮุมโบลต์เพื่อการวิจัย ณ ประเทศเยอรมนี

เมื่อไม่นานมานี้ ศาสตราจารย์เซียว เจี้ยนจวง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกว่างซี  ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคาร์บอนคู่ มหาวิทยาลัยกว่างซี และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการก่อสร้างสีเขียว มหาวิทยาลัยถงจี้  ได้รับเกียรติให้เดินทางเข้าร่วมการประชุมประจำปีของมูลนิธิอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลต์ แห่งเยอรมนี (Humboldt Annual Meeting) ประจำปี 2025 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี พร้อมทั้งเข้าร่วมพิธีมอบ รางวัลฮุมโบลต์เพื่อการวิจัย(Humboldt Research Award) โดยรับรางวัลสำหรับปี 2024
ศาสตราจารย์เซียว เจี้ยนจวง ได้รับคัดเลือกเป็นนักวิจัยภายใต้ทุนฮุมโบลต์ (Humboldt Research Fellowship) ในปี 2004
ได้รับอนุมัติทุนวิทยาศาสตร์แห่งชาติสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ดีเด่นในปี 2013 และได้รับรางวัลฮุมโบลต์เพื่อการวิจัยในปี 2024 ตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนด้านวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ท่านได้อุทิศตนให้กับการสำรวจพื้นฐานและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในสาขาวัสดุคอนกรีต รีไซเคิล โครงสร้าง และเทคโนโลยีการก่อสร้าง พร้อมทั้งนำทีมวิจัยให้บรรลุความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง


ทีมวิจัยของศาสตราจารย์เซียว เจี้ยนจวง ได้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาขยะของแข็งจากการก่อสร้างในประเทศจีน ซึ่งมีปริมาณมหาศาล กระจายตัวเป็นวงกว้าง มีองค์ประกอบซับซ้อน และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยได้นำเสนอแนวคิดการนำทรัพยากรขยะของแข็งจากการก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่แบบร่วมมือ "ไปข้างหน้า-ย้อนกลับ" พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการเพื่อการนำองค์ประกอบทั้งหมดของขยะของแข็งจากการก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเทคโนโลยีสำหรับการเตรียมและปรับปรุงคอนกรีตรีไซเคิล นอกจากนี้ จากความท้าทายที่ว่ามวลรวมรีไซเคิลจากคอนกรีตเหลือใช้มีการกระจายตัวของปูนเก่าบนพื้นผิวแบบสุ่ม ซึ่งส่งผลให้สมบัติเชิงกลของคอนกรีตที่ได้ด้อยประสิทธิภาพ และทฤษฎีการออกแบบโครงสร้างแบบดั้งเดิมไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม ท่านจึงได้นำเสนอระเบียบวิธีวิเคราะห์ คอนกรีตรีไซเคิลจำลอง และสร้างสมการองค์ประกอบของคอนกรีตรีไซเคิล ภายใต้สภาวะแรงต่างๆ ซึ่งส่งผลให้สามารถออกแบบโครงสร้างคอนกรีตรีไซเคิลและคอนกรีตดั้งเดิมได้อย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อการก่อสร้างโครงสร้างคอนกรีตรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท่านได้นำเสนอแนวคิดการรื้อถอนและก่อสร้างโครงสร้างใหม่ พร้อมทั้งประดิษฐ์เทคโนโลยีการก่อสร้างส่วนประกอบคอนกรีตรีไซเคิลแบบถอดประกอบและประกอบรวมได้ รวมถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างดิจิทัลด้วยการพิมพ์ 3 มิติสำหรับคอนกรีตมวลรวมรีไซเคิล ผลงานวิจัยดังกล่าวได้วางรากฐานทางทฤษฎีและเทคโนโลยีที่เป็นระบบสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างคอนกรีต
รีไซเคิล ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว เวิ่นชวน, การก่อสร้างพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเซี่ยงไฮ้เวิลด์เอ็กซ์โป และการดำเนินงานโครงการสีเขียวคลองผิงลู่ ซึ่งนับเป็นโครงการแห่งศตวรรษ อีกทั้งยังได้รับการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในโครงการก่อสร้างอาคาร ถนน สะพาน และโครงการชลประทานในหลายภูมิภาค อาทิ เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง ซานตง เสฉวน ส่านซี เจียงซี กวางตุ้ง และกว่างซี
จากพื้นฐานความสำเร็จดังกล่าว ทีมวิจัยของศาสตราจารย์เซียว เจี้ยนจวง ได้ผลักดันการพัฒนาระบบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและขยายผลสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงมาตรฐานแห่งชาติฉบับแรก “ข้อกำหนดทางเทคนิคสำหรับการนำของเสียจากการก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่ (GB/T50743-2012), มาตรฐานอุตสาหกรรม “มาตรฐานทางเทคนิคสำหรับโครงสร้างคอนกรีตรีไซเคิล” (JGJ/T443-2018), มาตรฐานเซี่ยงไฮ้ “มาตรฐานทางเทคนิคการประยุกต์ใช้คอนกรีตมวลรวมรีไซเคิล” (DG∕TJ 08-2018-2020), มาตรฐานซานตง “ข้อกำหนดทางเทคนิคการประยุกต์ใช้ส่วนประกอบคอนกรีตสำเร็จรูปที่รีไซเคิลทั้งหมด” (DB37/T-5176-2021) และมาตรฐานสากล ISO “การเตรียมและการประยุกต์ใช้คอนกรีตรีไซเคิล” (ISO/DTS 21056) เป็นต้น นอกจากนี้ ท่านยังริเริ่มการจัดตั้งคณะกรรมการเทคนิค RILEM จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการด้านพฤติกรรมโครงสร้างคอนกรีตรีไซเคิล และคณะกรรมการด้านคุณสมบัติของรอยต่อหลายชั้นในคอนกรีตรีไซเคิล และได้ก่อตั้งวารสารนานาชาติ Low-carbon Materials and Green Construction (จัดทำดัชนีโดย EI และ Scopus) ภายใต้สำนักพิมพ์ Springer

การวิจัยของทีมศาสตราจารย์เซียว เจี้ยนจวง กำลังขยายขอบเขตการวิจัยจาก "การนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำ" สู่ทิศทาง "การสร้างสรรค์ใหม่" โดยมีเป้าหมายการวิจัยที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จากการมุ่งเน้นการรับประกันความปลอดภัยของโครงสร้าง ไปสู่การบูรณาการความปลอดภัยร่วมกับการลดการปล่อยคาร์บอน และได้ประพันธ์บทความวิจารณ์เกี่ยวกับแนวหน้าในอนาคตของคอนกรีตคาร์บอนต่ำและการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature และวารสารในเครือ โดยมุ่งมั่นที่จะต่อยอดผลงานนวัตกรรมของทีม จากการสร้างสรรค์ทางทฤษฎีและเทคนิค ไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมสร้างประเทศจีนที่งดงาม ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมืออันกว้างขวางในระดับนานาชาติและภูมิภาค
อนึ่ง "รางวัลฮุมโบลต์เพื่อการวิจัย" นับเป็นหนึ่งในเกียรติยศสูงสุดที่ประเทศเยอรมนีมอบให้แก่นักวิจัยที่ไม่ใช่ชาวเยอรมัน ซึ่งมีนักวิชาการทั่วโลกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ไม่เกิน 100 ท่านต่อปี โดยผู้ได้รับรางวัลล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลกผู้ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในสาขาการวิจัยพื้นฐานหรือนวัตกรรมล้ำสมัย ศาสตราจารย์เซียว เจี้ยนจวง ได้รับรางวัลนี้ประจำปี 2024 จากผลงานอันโดดเด่นในการวิจัยพื้นฐานและการสอนในสาขาเทคโนโลยีโครงสร้างคอนกรีตรีไซเคิล